หากว่ากันด้วยเรื่องของ “ผ้าไหมไทย” นั้น หลายๆ ท่านก็คงจะนึกถึงชุดไทยสมัยโบราณหรือว่าชุดข้าราชการระดับสูงกันแน่นอน แต่จะมีสักกี่ท่านที่ทราบถึงความเป็นมาของผ้าไหมไทยและรู้ถึงความแตกต่างของผ้าไหมไทยกับผ้าต่างประเทศ วันนี้เราจะพาไปหาค้นหาคำตอบกันครับ

ประวัติความเป็นมาของผ้าไหมไทย

ในปัจจุบันมีการนำเข้าวัตถุดิบเส้นไหม และเส้นใยสังเคราะห์จากต่างประเทศ ทั้งมีการนำเข้าถูกกฎหมายและลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมาย ทำให้วัตถุเส้นไหมจึงมีทั้งคุณภาพได้มาตรฐานและคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานทำให้ผ้าไหมไทยมีคุณภาพต่ำลง กระนั้นผู้ผลิตก็ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์ว่า “ผ้าไหมไทย” หรือ “Thai Silk” เพื่อการค้า ยังผลให้ผู้ซื้อทั้งของประเทศไทยและตลาดต่างประเทศไม่มั่นใจในคุณภาพของผ้าไหมไทย จากปัญหาดังกล่าวสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางการแก้ไข

ปี พ.ศ. 2545 หน่วยงานซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับผ้าไหมไทย เช่น กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (หน่วยงานเดิมของกรมหม่อนไหม) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกันจัดสัมมนาหาแนวทางแก้ไขจนได้ข้อสรุปเป็นมาตรการคุ้มครองไหมไทยและออกข้อบังคับในการผลิตผ้าไหมไทยโดยออกตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพผ้าไหมไทยไว้เป็นระดับต่างๆ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทย ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยไว้ 4 ชนิด

–         นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) เป็นผ้าไหมชึ่งผลิตจากวัตถุดิบ เส้นไหม กระบวนการผลิตแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริงและใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นไหมจะต้องสาวเส้นด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ การทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องผลิตในประเทศไทย

–         นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) เป็นผ้าไหมซึ่งผลิตขึ้นแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือที่ได้รับการปรับปรุงจากพันธุ์ไทยเป็นเส้นพุ่งหรือเส้นยืน เส้นไหมต้องผ่านการสาวด้วยมือ หรืออุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนขนาดไม่เกิน 5 แรงม้า การทอต้องทอด้วยกี่ทอมือชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือหรือกี่กระตุก และต้องทำการผลิตในประเทศไทย

–         นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) เป็นผ้าไหมซึ่งผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยโดยการประยุกต์เทคโนโลยีการผลิตให้เข้ากับสมัยนิยมและทางธุรกิจธุรกิจ ใช้เส้นไหมแท้เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน ย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้ และต้องผลิตในประเทศไทย

–         นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เป็นผ้าไหมซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทย เช่น ลวดลาย สีสัน ใช้เส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากวัสดุธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน หรือตามความต้องการของผู้บริโภค เส้นไหมแท้เป็นองค์ประกอบหลัก มีเส้นใยอื่นเป็นส่วนประกอบรอง สัดส่วนการใช้เส้นใยชนิดอื่นประกอบต้องระบุให้ชัดเจน ทอด้วยกี่ชนิดใดก็ได้ ย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องผลิตในประเทศไทย

ความแตกต่างระหว่างผ้าไหมไทยและผ้าไหมต่างประเทศ

●ผ้าไหมไทย (Silk Thai) คือ ทำขึ้นมาจากเส้นใยธรรมชาติ ที่ได้จากสัตว์หนอนไหมที่เลี้ยงในประเทศไทยโดยเฉพาะ นำมาผ่านกระบวนการสางเส้นใย และนำมาทักทอให้เป็นลวดลายบนพื้นผ้าที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการทอ เช่น จก ยก ขิด ขัด เป็นต้น ผ้าไหมไทยเป็นผ้าที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของลวดลายบนพื้นผ้าและยังมีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน ใช้เวลาในการผลิตมากกว่าผ้าชนิดอื่น จึงทำให้ผ้าไหมไทยมีราคาสูงกว่าผ้าทุกชนิดค่ะ

●ผ้าไหมอิตาลี (Silk Italy) คือ ผ้าที่ผลิตขึ้นมาจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ (Polyester) นำมาผ่านกระบวนการทอ ด้วยเครื่องจักรจนได้ลักษณะพิเศษเฉพาะตัวถูกตั้งชื่อเรียกทางการตลาดว่า ผ้าไหมอิตาลี (Silk Italy) โดยบางครั้งอาจสร้างความสับสนต่อผู้ซื้อ ซึ่งอาจเข้าใจว่าเป็นผ้าไหม Silk ที่เป็นเส้นใยธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้ว เป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ ที่มีผิวสัมผัสคล้ายผ้าไหมใยธรรมชาติเท่านั้น ถึงผ้าไหมอิตาลี จะผลิตขึ้นมาจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ แต่ยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีราคาถูก

และนี้ก็คือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “ผ้าไหมไทย” พร้อมกับความแตกต่างระหว่างผ้าไหมไทยกับผ้าไหมอิตาลี ที่เราได้นำมาฝากทุกๆ ท่านกันครับ