ประเพณีหรือ Tradition เป็นสิ่งที่ผู้คนนั้นมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนทำให้ประเพณีนั้นกลายเป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคมเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างของประเพณีได้แก่ การแต่งกาย การพูด ศาสนา ความเชือ ฯลฯ ซึ่งประเพณีนั้นได้กลายเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆขึ้นมา สำหรับประเทศไทยเรานั้นหากจะแบ่งประเพณีหรือวัฒนธรรมก็ต้องแบ่งแยกตามสังคมซึ่งได้แก่ภูมิภาคทั้ง 4 ของประเทศ เนื่องจากทั้ง 4 ภาคนั้นมีสังคมที่แตกต่างกันจึงทำให้วัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละภาคต่างกัน ดังนั้นในวันนี้เราจะมาพูดถึงวัฒนธรรมและประเพณีของทั้งสี่ภาคว่ามีอะไรกันบ้างให้ทุกคนได้เรียนรู้กัน

ทำความรู้จักกับประเพณีไทยแต่ละภาค

มาดูกันว่าในแต่ละภาคของไทยนั้นมีประเพณีและวัฒนธรรมอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง

  • เริ่มกันที่ภาคเหนือ โดยในภาคเหนือนั้นเป็นภูมิภาคที่อยู่เหนือสุดของประเทศและมีภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขาล้อมรอบและอยู่บนพื้นที่สูง จึงทำให้ในภาคเหนือนั้นมีอุณหภูมิหรืออากาศที่ค่อนข้างเย็นกว่าภาคอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ภาคเหนือนั้นมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างสโลว์ไลฟ์ ดังจะเห็นได้จากการพูดที่มีความอ่อนช้อย อ่อนโยน พูดช้า ๆ ส่งผลให้ประเพณีและวัฒนธรรมของภาคเหนือนั้นมักจะมีความปราณีต อ่อนช้อย สวยงาม โดยประเพณีที่น่าสนใจของภาคเหนือได้แก่ ประเพณียี่เป็ง ประเพณีฟ้อนผีปู่ย่า ประเพณีตานตุง เป็นต้น
  • มาต่อกันที่ภาคกลาง ด้วยความที่ภาคกลางเป็นศูนย์กลางของหลาย ๆ ภาคจึงทำให้คนในภาคกลางนั้นรับเอาวัฒนธรรมของหลาย ๆ ภาคมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยประเพณีส่วนใหญ่ของภาคกลางจะเน้นความเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดและองค์ประกอบที่สวยงาม ยกตัวอย่างประเพณีของภาคกลางได้แก่ ประเพณีบายศรีสู่ขวัญข้าวเป็นประเพณีที่เป็นการทำขวัญให้กับพระแม่โพสพ เพื่อเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้กับชาวนา,  ประเพณีแข่งเรือเป็นประเพณีที่ทำขึ้นในช่วงหลังจากชาวบ้านเว้นช่วงจากการทำนาเพื่อให้ได้มาเล่นสนุก เป็นต้น
  • ภาคต่อมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เราเรียกว่าภาคอีสานนั้นก็มีประเพณีที่เฉพาะและแตกต่างจากภาคอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วประเพณีทางภาคอีสานจะเน้นถึงความละเล่นความสนุกสนาน ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีผีตาโขนเป็นประเพณีที่ละเล่นแต่งตัวเป็นผีตาโขนเพื่อให้ขับไล่ภูติผีปีศาจออกไป, ประเพณีบุญบั้งไฟโดยประเพณีจะมีการทำบั้งไฟขนาดใหญ่และเป็นความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคว่าเมื่อทำพิธีนี้จะส่งสัญญาณไปถึงพญานาคเพื่อขอฝน, ประเพณีแห่นางแมวก็เป็นประเพณีที่ใช้ขอฝนอีกประเพณีหนึ่งแต่เป็นการนำแมวตัวเมียสีดำแห่รอบเพื่อขอฝนในหน้าแล้ง เป็นต้น
  • ภาคสุดท้ายคือภาคใต้ ด้วยความที่ภาคใต้นั้นเป็นภูมิภาคที่อยู่ใต้สุดของประเทศ ทำให้มีอากาศที่ร้อนชื้น ส่งผลให้ประเพณีและวัฒนธรรมของภาคใต้มักจะเป็นการกระทำที่กระชับ ฉับไว โดยประเพณีของทางภาคใต้ได้แก่ ประเพณีชักพระโดยประเพณีสามารถทำได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้เชือกผูกองค์พระเพื่อลากพร้อมส่งเสียงร้องบทลากพระโดยพร้อมเพรียงกัน, ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่ทำขึ้นเเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณของบรรพบุรุษหรือญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น

ในแต่ละภาคของไทยนั้นก็มีประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่างกันออกไป ซึ่งในความแตกต่างนี้ก็ทำให้เราสามารถแยกชัดว่าแต่บะคนอยู่ในภาคไหน หรือมีถิ่นกำเนิดจากที่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าตัวสังคมเองนี่ละที่ทำให้ก่อเกิดวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปก็ยังมีประเพณีอื่น ๆ ของไทยอีกมากมายที่ให้เราได้เรียนรู้กัน