วรรณกรรมไทยฉบับดั้งเดิม

งานวรรณกรรม  ถือได้ว่าเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ทางด้านศิลปะ วัฒนธรรมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในส่วนของวรรณกรรมที่เป็นเรื่องเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ของคนไทยในอดีต  ซึ่งมีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป  ตามแต่วิถีชีวิตของคนแต่ละพื้นเมือง  ซึ่งในส่วนของวรรณกรรมไทยแบบเดิมและวรรณกรรม  หลังจากได้รับอิทธิพลทางตะวันตกก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก เปรียบเทียบแง่มุมต่างๆ ดังนี้

  • วรรณกรรมไทยฉบับดั้งเดิม  ส่วนใหญ่แล้วเป็นแนวนิยมปรัชญาในการแต่ง  เป็นแบบอุดมคตินิยม  จินตนิยม  และอาจจะมีสัญลักษณ์นิยม  เข้ามาร่วมด้วยบ้างเล็กน้อย  แต่ในส่วนของวรรณกรรมหลังจากได้รับอิทธิพลทางตะวันตก  จะเป็นงานเขียนเชิงอัตนิยม  สัญลักษณ์นิยม  ธรรมชาตินิยมรวมไปถึงสังคมนิยมด้วย  สิ่งต่างๆที่มีความแตกต่างกันออกไปทำให้ลักษณะของวรรณกรรมเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

  • จุดหมายในการแต่งวรรณกรรมฉบับดั้งเดิม  มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกยอเกียรติสดุดีกษัตริย์และเป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นปกครอง  ที่จะใช้ในการอบรมผู้อยู่ใต้การปกครอง ใช้ในพระราชพิธี  ใช้เพื่อสำเริงอารมณ์  ใช้ในงานสมโภช  และใช้เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ  แต่ในส่วนของงานปัจจุบัน  เขียนเพื่อประเทืองปัญญาที่แนะแนวทางให้เกิดความคิดสร้างสรรค์รวมไปถึงสะท้อนภาพสังคมที่เป็นความจริงให้กับผู้อ่านได้รับรู้ไปพร้อมๆกัน

  • ธรรมเนียมนิยม  ในการแต่งวรรณกรรมในสมัยก่อน  ซึ่งเดิมนิยมยึดแบบ  เริ่มด้วยบทไหว้พระรัตนตรัย ไหว้ครูบาอาจารย์ กล่าวยอเกียรติ พาชมบ้านชมเมือง  ชมธรรมชาติ  แล้วจึงเริ่มเนื้อเรื่อง  ในตอนจบมักจะมีการถ่อมตัวออกตัว  และนิยมบอกนามผู้แต่งไว้ด้วย  แต่ในปัจจุบันนี้ตามธรรมเนียมตะวันตก  ไม่เคร่งครัดกับเรื่องระบบระเบียบมากนัก  ผู้แต่งมักจะแสวงหารูป แบบใหม่ๆ ที่มีความแปลกแหวกแนวออกไปเพื่อนำเสนอความแปลกใหม่นั่นเอง

  • เนื้อเรื่องของงานวรรณกรรมฉบับดั้งเดิม  เป็นเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างซ้ำซาก  นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับจักรๆวงศ์ๆ  ที่มีอนุภาพต่างๆ  มีเรื่องของการพลัดพราก การออกติดตาม  มีการผจญภัยและการอิจฉาริษยา  รวมไปถึงการแก้แค้น  นอกจากนี้แล้วเรื่องของวรรณกรรมฉบับก่อน  ยังเป็นเรื่องของสวรรค์ นรก เทวดา ยักษ์ เป็นต้น  แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่แล้วจะหลีกหนีออกจากการเขียนถึงกษัตริย์ชั้นสูง ไปสู่ชีวิตของคนชั้นกลางธรรมดาสามัญ  แนวการเขียนจะสะท้อนสภาพสังคมปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆในสังคมมากขึ้น

  • รูปแบบการเขียนวรรณกรรมสมัยก่อน  นิยมร้อยกรอง ประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ลิลิตคำหลวงร่าย  นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของเสภานิทานคำกลอน  และเรื่องเล่าต่างๆอีกด้วยแต่ในปัจจุบันนี้นิยมเขียนประเภทร้อยแก้วมากกว่าร้อยกรอง  วรรณกรรมส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องสั้น  นวนิยาย  บทละคร  สารคดีต่างๆ  รวมไปถึงบทความ หากเป็นร้อยกรองก็จะเป็นร้อยกรองที่ไม่เคร่งครัด ฉันทลักษณ์  นิยมเขียนกลอนเปล่า

  • ศิลปะในการแต่งเรื่อง  วรรณกรรมดั้งเดิมจะนิยมใช้ศิลปะการใช้ถ้อยคำ  และภาษาโวหารที่ไพเราะเน้นการเล่นคำเล่นเสียง  เพื่อแสดงความสามารถในเชิงวรรณศิลป์  แต่ในปัจจุบันนี้นิยมใช้เทคนิคต่างๆ ประกอบกับการบรรยายเป็นตอนๆ  ยึดถือเรื่องความจริงเป็นหลักมากกว่าการเล่าเรื่องแบบวรรณศิลป์ไม่สามารถคาดเดาเรื่องได้เหมือนสมัยอดีตนั่นเอง

  • คุณค่าของงานวรรณกรรม ฉบับก่อน  เน้นคุณค่าทางอารมณ์และศีลธรรมมากกว่าคุณค่าทางสติปัญญา  ตรงกันข้ามกับงานวรรณกรรมฉบับปัจจุบัน  ที่เน้นคุณค่าทางปัญญาเป็นสำคัญ  เป็นการสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับผู้อ่านไปในตัว  ทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจชีวิตสังคมปัญหาต่างๆได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ในขณะเดียวกันก็ยังได้รับความเพลิดเพลินจากการอ่านวรรณกรรมอีกด้วย